วันพฤหัสบดีที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

หลักธรรมคำสั่งสอนของท่านพุทธทาส ( ฟ้าสางทางความลับ 2 )





ฟ้าสางทางความลับสุดยอด ( ๒ )

19.ความจริงเป็นสิ่งเดียวไม่มีคู่ (เอกํ หิ สจฺจํ นทุตียมตฺถิ) ; แม้จะมีความไม่จริง (ตามที่ใครบัญญัติขึ้น) มันก็เป็นความจริงของความไม่จริง  (๑๙)
20.พระเจ้าที่เป็นทั้งผู้บันดาลให้เกิด และปลดเปลื้องความทุกข์ได้แท้จริง นั้นคือ กฏอิทัปปัจจยตา; จงรู้จักท่านและกระทำต่อท่านให้ถูกต้องเถิด  (๒๐)
21.พระเจ้าที่แท้จริง เป็นหัวใจของศาสนาทุกๆ ศาสนา นั่นคือ "กฏ" หรือ ภาวะของความถูกต้องตามธรรมชาติ เพื่อความรอดของมนุษย์"; พุทธศาสนายิ่งมีกฏหรือภาวะนั้นที่เป็นไปตามกฏอิทัปปัจจยตา  (๒๑)
22.ถ้าอยากพบ "พระเจ้าที่แท้จริง" อย่าตั้งปัญหาอย่างอื่นใดขึ้นมา นอกจากปัญหาว่า อะไรที่สร้าง - ควบคุม - ทำลายโลก - ใหญ่ยิ่ง - รู้สิ่งทั้งปวง - มีในที่ทั้งปวง, โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุควิทยาศาสตร์แห่งปัจจุบันนี้  (๒๒)
23.คำสอนของผู้รู้แท้จริง แม้เป็นเวลา ๒-๓ พันปีมาแล้ว แต่ก็ยังใช้ได้อยู่เหมือนคำพูดใหม่ๆ สดๆ ร้อนๆ นั้นคือ คำสอนของพระพุทธองค์แก่ชาวกาลาม ที่เรียกว่า กาลามสูตร (ดังต่อไปนี้)   (๒๓)
24.อย่าเชื่อและรับมาปฏิบัติ ด้วยเหตุเพียงสักว่า "ฟังตามๆ กันมา"; เพราะมันผิดมาตั้งแต่ต้นก็ได้, เพราะเปลี่ยนไปตลอดเวลาที่ฟังตามๆ กันมา ก็ได้   (๒๔)
25.อย่าเชื่อและรับมาปฏิบัติ ด้วยเหตุเพียงสักว่า "ทำตามสืบๆ กันมา"; เพราะมันผิดมาตั้งแต่ต้น หรือ เปลี่ยนไปๆ ตลอดเวลาที่ทำตามๆ กันมา ก็ได้  (๒๕)
26.อย่าเชื่อและรับมาปฏิบัติ ด้วยเหตุเพียงสักว่า "กำลังเล่าลืออยู่อย่างกระฉ่อน";
เพราะการเล่าลือเป็นการกระทำของพวกที่ไม่มีสติปัญญา, มีแต่โมหะ ก็ได้  (๒๖)
27.อย่าเชื่อและรับมาปฏิบัติ ด้วยเหตุเพียงสักว่า "มีที่อ้างอิงในปิฎก(ตำรา)"; เพราะปิฎกหรือตำราทั้งหลายเกิดขึ้นและเปลี่ยนไป ตามปัจจัยที่แวดล้อมหรือตามกฏอิทัปปัจจยตา ก็ยังได้  (๒๗)
28.อย่าเชื่อและรับมาปฏิบัติ ด้วยเหตุเพียงสักว่า "ถูกต้องตามหลักทางตรรกะ"; เพราะตรรกะเป็นเพียงความคิดชั้นผิวเปลือก, ใช้เหตุผลและเดินตามเหตุผลชั้นผิวเปลือก   (๒๘)
29.อย่าเชื่อและรับมาปฏิบัติ ด้วยเหตุเพียงสักว่า "ถูกต้องตามหลักทางนยายะ"; เพราะนยายะ เป็นการคาดคะเนที่เดินไปตามเหตุผลเฉพาะหน้าในการคาดคะเน นั่นเอง  (๒๙)
30.อย่าเชื่อและรับมาปฏิบัติ ด้วยเหตุเพียงสักว่า "ถูกต้องตามสามัญสำนึก"; เพราะสามัญสำนึกเดินตามความเคยชินของความรู้สึกชั้นผิวเปลือก  (๓๐)
31.อย่าเชื่อและรับมาปฏิบัติ ด้วยเหตุเพียงสักว่า "ทนต่อการเพ่งด้วยทิฏฐิของตน"; เพราะทิฏฐิของเขาผิดได้ โดยเขาไม่รู้สึกตัว   (๓๑)
32.อย่าเชื่อและรับมาปฏิบัติ ด้วยเหตุเพียงสักว่า "ผู้พูดอยู่ในฐานะควรเชื่อ"; เพราะเป็นเหตุให้ไม่คิดใช้สติปัญญาของตนเอง ในการพิจารณา  (๓๒)
33.อย่าเชื่อและรับมาปฏิบัติ ด้วยเหตุเพียงสักว่า "สมณะผู้พูดเป็นครูของเรา";
เพราะเป็นเหตุให้ไม่คิดใช้สติปัญญาของตนเองในการศึกษา  (๓๓)
34.ในกรณีเหล่านี้ เขาจะต้องใช้ยถาภูตสัมมัปปัญญา หาวี่แววว่า สิ่งที่กล่าวนั้น มีทางจะดับทุกข์ได้อย่างไร; ถ้ามีเหตุผลเช่นนั้น ก็ลองปฏิบัติดู ได้ผลแล้ว จึงจะเชื่อและปฏิบัติให้ยิ่งขึ้นไป กว่าจะถึงที่สุดแห่งความดับทุกข์  (๓๔)
35.กฏของธรรมชาติเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดมีกาย -ใจ อย่างที่สัตว์ทั้งหลายกำลังมี และให้ใจคิดไปตามผัสสะจากสิ่งแวดล้อม จนมีการบัญญัติเรื่องทิฏฐิ เรื่องกรรม เรื่องสุขทุกข์ เรื่องดีชั่ว เป็นต้น  (๓๕)
36.ก ข ก กา แห่งการดับทุกข์ คือการรู้ความลับของอายตนิกธรรม ๕ หมวด คือ อายตนะภายในหก อายตนะภายนอกหก วิญญาณหก ผัสสะหก เวทนาหก ตามที่เป็นจริงอย่างไร ในชีวิตประจำวัน เป็นเรื่องที่ต้องหามาศึกษาให้รู้อย่างละเอียด  (๓๖)
37.การเกิดทางร่างกายจากท้องแม่ นั้นไม่สำคัญยังไม่เป็นปัญหา, จนกว่าจะมีการเกิดทางจิตใจ คือเกิด ตัวกู-ของกู จึงจะเป็นการเกิดที่สมบูรณ์คือมีปัญหาและมีที่ตั้งแห่งปัญหา กล่าวคือ ความทุกข์  (๓๗)
38.ถ้าพ้นจากการเกิดแห่งตัวกูเสียได้  ย่อมพ้นจากปัญหาและความทุกข์ทั้งปวงได้ และจะพ้นจากปัญหาแห่งการเกิดทางกายทั้งหมด ได้เองด้วย  (๓๘) 




หลักธรรมคำสั่งสอนของท่านพุทธทาส ( ฟ้าสางทางความลับ )





 ฟ้าสางทางความลับ

1.ชีวิตเป็นสิ่งที่พัฒนาได้ ตามประสงค์ โดยกฏอิทัปปัจจยตา ดังนั้น ชีวิตจึงเป็นสิ่งที่เราเติมธรรมะลงไปได้ตามที่เราต้องการ โดยการปฏิบัติธรรม. (๑)
2.ถ้ามีการศึกษาที่เห็นแจ้งจากภายใน (เป็นสันทิฏฐืโก) แล้ว ก็ไม่มีทางที่จะเป็นทาสทางสติปัญญาของใคร แม้แต่ของพระพุทธเจ้า: นี้เป็นหลักของพระพุทธศาสนา (ตามกาลามสูตรข้อสิบ)    (๒)
3.ถ้าใช้หลักกาลามสูตรเป็นเครื่องตัดสินว่า เป็นสิ่งที่ควรรับถือเป็นหลักปฏิบัติแล้ว
ก็ไม่ต้องคำนึงว่าเป็นคำสอนของใคร เป็นของเดิมแท้หรือเป็นของใหม่ ฯลฯ
หรือว่ามีประวัติมาอย่างไร    (๓)
4.การมีธรรมะแท้จริง ก็คือสามารถดำรงตนอยู่เหนือปัญหาหรือความทุกข์ทั้งปวง;
ไม่เกี่ยวกับปริญญาบัตร ฯลฯ พิธีรีตอง หรือ หลักปรัชญาชนิดฟิโลโซฟี่ใดๆ  (๔)
5.เรามีวิธีทำให้ชีวิตเป็นของเย็น ทุกอิริยาบถตามที่เราประสงค์จะมี ไม่ว่าในรูปแบบใดๆ :
เพื่อตนเอง - เพื่อสังคม - ตามธรรมชาติล้วนๆ   (๕)
6.การศึกษา - ศาสนา - วัฒนธรรม - ประเพณี - การเมือง - การปกครอง - การเศรษฐกิจ - ศิลปะ ฯลฯ - วิทยาการใดๆ จะถือว่าถูกต้องได้ เฉพาะเมื่อพิสูจน์การดับทุกข์ได้ในตัวมันเอง      (๖)
7.การเรียน - การรู้ - การมีความรู้ - การปฏิบัติ - การใช้ความรู้ให้สำเร็จประโยชน์ เหล่านี้ มิใช่สิ่งเดียวกัน; ระวังการมี การใช้ ให้ถูกต้อง   (๗)
8.ชีวิตเย็นเป็นนิพพาน ในปัจจุบัน คือไม่มีกิเลส เกิดขึ้นแผดเผาให้เร่าร้อน ทุกเวลานาที ทุกอิริยาบถ, ในความรู้สึกอย่างสันทิฏฐิโก (คือรู้สึกอยู่ภายในใจ) ()
9.มีชีวิตเย็นเป็นนิพพาน (นิพฺพุโต) ในปัจจุบันได้โดยที่ทุกอย่างถูกต้องแล้ว พร้อมแล้ว ไม่ว่าสำหรับจะตายหรือจะอยู่; เพราะไม่มีอะไรยึดถือไว้ว่า กู-ของกู     (๙)
10.กิจกรรมทางเพศเป็นของร้อน และเป็นเรื่อง "บ้าวูบเดียว"; แต่คนและสัตว์ (แม้ต้นไม้?) ก็ตกเป็นทาสของมันยิ่งกว่าสิ่งใด  (๑๐)
11.อวัยวะสืบพันธุ์ มีไว้สำหรับผู้ต้องการสืบพันธุ์ หรือผู้ต้องการรสอร่อยจากกามคุณ (กามอสฺสาท) อันเป็นค่าจ้างให้สัตว์สืบพันธุ์ ด้วยความยากลำบากและน่าเกลียด; แต่ไม่เป็นที่ต้องการของผู้จะอยู่อย่างสงบ  (๑๑)
12.เรื่องเพศหรือเกี่ยวกับเพศ ธรรมชาติสร้างมาสำหรับมนุษย์ - สัตว์ - พฤกษชาติ ไม่สูญพันธุ์ ; ไม่ใช่ของขวัญที่ใครจะเรียกร้อง ไม่ใช่ของควรบูชาในฐานะสิ่งสูงสุด ว่าเป็นกามเทพ เป็นต้น   (๑๒)
13.กามารมณ์เป็นค่าจ้างทางเพศ เพื่อการสืบพันธ์ อันสกปรกเหน็ดเหนื่อยและน่าเกลียดจากธรรมชาติ, มิใช่ของขวัญ หรือ หรรษทานจากเทพเจ้าแต่ประการใด เลิกบูชากันเสียเถิด   (๑๓)
14.กามกิจก็เป็นหน้าที่ที่เป็นธรรมะอย่างหนึ่งด้วยเหมือนกัน; แต่ต้องประพฤติกันอย่างถูกต้องและพอดี สำหรับอริยชนที่ครองเรือน (๑๔)
15.การสมรสด้วยจิตหรือทางวิญญาณ (เช่น ทิฏฐิตรงกัน) นั้นเป็น "พรหมสมรส" ยังบริสุทธิ์ สะอาดดี ไม่ก่อให้เกิดทุกข์หรือปัญหาใดๆ ; ส่วนการสมรสทางกาย หรือเนื้อหนัง นั้นสกปรก น่าเกลียด เหน็ดเหนื่อยเกินไป จนไม่รู้ว่าอะไรเป็นการสมรส    (๑๕)
16.กามที่เกี่ยวกับเพศ เป็นได้ทั้งเทพเจ้าและปีศาจ ทั้งนี้แล้วแต่ผู้ประกอบกิจนั้น มีธรรมะผิดถูกมากน้อยเพียงไร   (๑๖)
17.พวกที่ถือพระเจ้า ถือว่าอะไรๆ ก็แล้วแต่พระเจ้าบันดาล ส่วนชาวพุทธถือว่าแล้วแต่การกระทำผิดหรือถูก ต่อกฏอิทัปปัจจยตา; ดังนั้นควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับคำว่า "พระเจ้า" กันเสียใหม่ให้ถูกต้อง คือมีทั้งที่มีความรู้สึกอย่างบุคคล และไม่มีความรู้สึกอย่างบุคคล
อย่างไหนจะเป็นที่พึ่งได้และยุติธรรม ไม่รับสินบน   (๑๗)
18.พระเจ้าคือสิ่งสูงสุดนั้น ไม่ดี-ไม่ชั่ว แต่อยู่เหนือดีเหนือชั่ว จึงสามารถให้เกิดความหมาย ว่าดี ว่าชั่ว ให้แก่ความรู้สึกของมนุษย์ได้ทุกอย่าง จนงงไปเอง   (๑๘)




สร้างสวนโมกข์นานาชาติ




 สร้างสวนโมกข์นานาชาติ

เหตุที่สร้างสวนโมกข์นานาชาติ  ท่านพุทธทาสปรารถสาเหตุเชิงติดตลกว่า
  เพราะหมาทุกตัวไม่ยอมให้ฝรั่งอยู่  ไม่รู้เพราะอะไร    เนื่องจากสุนัขชอบเห่าไล่ฝรั่งที่มาสวนโมกข์เป็นประจำ  จึงต้องหาสวนโมกข์สำหรับชาวต่างชาติโดยเฉพาะ   สวนโมกข์นานาชาติเป็นสถานที่ปฎิบัติธรรมฝห้แก่ชาวต่างชาติทั่วดลกที่ต้องการแสวงหาความสุขอย่างแท้จริง   ท่านพุทธทาสได้ให้ท่านอาจารย์โพธิ์  จันทสโร  (  พระครูปลัดศีลวัฒน์  ) เจ้าอาวาสสวนโมกข์  เป็นผู้ดูแลและภารกิจนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้    วันนี้  ชาวโลกต่างรู้จักเมืองไทย  ในฐานะเป็นประเทศที่มีความรุ่งเรืองทางด้านพระพุทธศาสนา





ที่มา  สร้างสวนโมกข์นานาชาติ  ธัญญาภรณ์  ภู่ทอง  , จาก พระธรรมโกศาจารย์  พุทธทาส อินฺทปญฺโญ  พิมพ์ครั้งที่  1 , สำนักพิมพ์  วทพ. , 2541  ( หน้า  45  )































สร้างโรงเรียนหินและลานหินโค้ง



 





สร้างโรงเรียนหินและลานหินโค้ง

โรงเรียนหินและลานหินโค้ง  เป็นอีกอุปกรณ์หนึ่งที่ส่งเสริมการค้นคว้าหลักธรรม
                    
           วัตถุประสงค์ของโรงเรียนลานหินโค้ง
สร้างไว้เพื่อเป็นสถานที่อบรมบรรยายธรรมะ  แก่นักเรียน  ครู  อาจารย์ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่  หลักการของลานหินโค้ง   คือการใช้ศาสตร์ทางปรัชญาประกอบกับธรรมชาติวิทยาสื่อความหมายให้เห็นว่า  เมื่อมองหินแล้วจะให้ความรู้ร่มเย็นเกลี้ยงเกลาเหมือนก้อนหินเรีบยไร้รอยตะปุ่มตะป่ำ   เปรียบได้กับบุลคลที่มีจิตใจบริสุทธ์
           
           ส่วนลานหินนั้น  ใช้เป็นที่นั่งฟังเทศน์   ฟังธรรมบรรยายของอุบาสก  อุบาสิกา  และพระผู้เป็นสาวกทั้งหลาย   อีกทั้งยังใช้ประกอบพิธีตามกิจวัตร  หรือ  ตามประเพณี  เช่นตักบาตรในวัด







 ที่มา สร้างโรงเรียนหินและลานหินโค้ง   ธัญญาภรณ์  ภู่ทอง  , จาก พระธรรมโกศาจารย์  พุทธทาส อินฺทปญฺโญ  พิมพ์ครั้งที่  1 , สำนักพิมพ์  วทพ. , 2541  ( หน้า  44  )






















































สร้างโรงปั้นและภาพปั้นชุดพระพุทธศาสนา





สร้างโรงปั้นและภาพปั้นชุดพระพุทธศาสนา

แนวคิดในการสร้างนำมาจากภาพปั้นพุทธประวัติในประเทศอินเดีย  นอกจากนี้ยังสร้างภาพปริศนาธรรม  และคำพังเพยเพื่อเป็นคำสอนเตือนใจแก่ผู้มาเยือนอีกด้วย  ผู้ปั้นคือ พระผู้มีความชำนาญความรู้ทางด้านการปั้นและได้สอนพระเณร  ที่สนใจในการปั้นในวัดมาช่วยกันปั้นโดยใช้เวลาทั้งหมดนานถึง  10  ปี
                    
                               วัตถุประสงค์ของการใช้โรงปั้น
    1.เพื่อใช้เป็นอุปกรณ์ช่วยสอนธรรมะให้เข้าใจง่าย
    2.เพื่อใช้เป็นอุปกรณ์ในการสอนพุทธประวัติ
 




 สร้างรูปปั้นอวโลกิเตศวร

ท่านพุทธทาส  เป็นนักเผญแผ่ศาสนาที่น่าชื่นชมสมควรเชิดชู  เพราะท่านมิได้ศึกษาอยู่แต่ศาสนาพุทธนิกายเถรวาทเพียงนิกายเดียว  ยังสนใจนิกายอื่นๆ  รวมทั้งศาสนาคริศต์  ศาสนาอิสลาม  และท่านก็ได้ศึกษาคัมภีร์ไบเบิลและคัมภีร์อัลกุรอานอย่างแตกฉานอีกด้วย   นับว่าท่านสร้างคุณประโยชน์อย่างยิ่งแก่ประเทศชาติ  เพราะการศึกษาศาสนาของผู้อื่นอย่างผู้รู้จริงทำให้เกิดความเข้าใจ  ไม่มีข้อขัดแย้งระหว่างศาสนา
                   
                           วัตถุประสงค์ของการปั้นรูปอวโลกิเตศวร
  รูปปั้นอวโลกิเตศวรใช้เป็นรูปสัญลักษณ์ที่แสดงความสงบเมตตาระงับโทสะจิตได้อย่างดี









ที่มา  สร้างโรงปั้นและภาพปั้นชุดพระพุทธศาสนา      ธัญญาภรณ์  ภู่ทอง  , จาก พระธรรมโกศาจารย์  พุทธทาส อินฺทปญฺโญ  พิมพ์ครั้งที่  1 , สำนักพิมพ์  วทพ. , 2541  ( หน้า  43  )


ที่มาของรูปภาพ http://www.buddhadasa.org/html/life-work/bio/tell_chapter4-03.html